วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การเหยียดสีผิว

 ปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกที่ในโลกมาเป็นระยะเวลานาน และยากต่อการแก้ไข แม้ปัจจุบันปัญหานี้จะลดความรุนแรงลงจากอดีตมาก  แต่การเหยียดสีผิวก็ยังคงมีอยู่ในสังคมทั่วทุกมุมโลก

                หนังสือเรื่อง Racial and Ethics Relation in America ได้สะท้อนให้เห็นภาพความโหดร้ายชิงชังของชาวอาณานิคมอเมริกันที่ขับไล่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมออกไปจนสุดฝั่งมหาสมุทรตะวันตก พร้อมๆกับการกีดกันคนเชื้อสายอื่นทั้งแอฟริกา เอเชีย ให้อยู่ในฐานะพลเมืองชั้นสอง

                ไม่เฉพาะแต่อเมริกาเท่านั้นที่ในอดีตมีปัญหาการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง  แม้แต่ในแอฟริกาก็เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นเช่นเดียวกัน แม้ว่าคนพื้นเมืองดั้งเดิมจะเป็นเจ้าของพื้นที่และได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่มาก่อน แต่การล่าอาณานิคมของคนผิวขาวในยุคแสวงหาอาณานิคมทำให้ชนพื้นเมืองดั้งเดิมต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง  ต้องยอมปฏิบัติตามและตกอยู่ภายใต้การกดขี่ของผู้มาใหม่ทุกประการ ภายหลังเมื่อแอฟริกาใต้ได้รับเอกราชจากอังกฤษและฮอลแลนด์แล้ว  ชาวแอฟริกันก็ยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของคนขาวในฐานะประเทศเอกราชในเครือจักรภพอังกฤษ ด้วยเหตุที่คนขาวมีความรู้ความสามารถมากกว่าจึงใช้อำนาจที่มีกดขี่ข่มเหงคนผิวดำด้วยนโยบายที่ควรได้รับการประณามมากที่สุดนโยบายหนึ่งที่มีชื่อว่า นโยบายการแบ่งแยกสีผิว (Apartheid)

                 การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบภายใต้กฎหมายหลายฉบับที่มีผลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพแทบทุกด้านของชาวแอฟริกาใต้ กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Group Areas Act มีข้อบังคับให้คนที่ไม่ใช่คนผิวขาว (Non-whites) ต้องย้ายออกไปอยู่ในดินแดนห่างไกลที่รัฐบาลคนผิวขาวได้กำหนดไว้ โดยกันพื้นที่ที่มีความเจริญและมีสิ่งสาธารณูปโภคไว้สำหรับชนผิวชาวเท่านั้น กฎหมายนี้สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับคนผิวดำเพราะต้องเดินทางไกลเพื่อ มาทำงานแลกค่าแรงขั้นต่ำในเขตของคนขาว


                 กฎหมายที่มีชื่อว่า Population Registration Act ได้กำหนดให้ผู้ที่อยู่อาศัยในแอฟริกาใต้ต้องมาจดทะเบียนจำแนกตามเชื้อชาติ ของตน มีสี่กลุ่มใหญ่ๆคือ กลุ่มคนขาว(White) กลุ่มคนดำ(Black) กลุ่มคนผิวสี(Coloured) และกลุ่มคนเอเชีย(Asian) กฎหมายฉบับนี้จะจำกัดและกำหนดสิทธิทางสังคม สิทธิทางการเมือง สิทธิในการได้รับบริการจากรัฐและบริการทางการแพทย์ โอกาสทางการศึกษาและสถานะในการทำธุรกิจโดยสิทธิที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับกลุ่มเชื้อชาติที่พวกเขาสังกัดอยู่และเป็นที่แน่นอนว่าภายใต้กฎหมายฉบับนี้คนที่ ไม่ใช่คนขาว (Non-whites) ก็จะต้องเป็นผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิต่างๆมากที่สุด
                
                The Separate Representation of Voters Act No. 46 เป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้ในปี 1951 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อจำกัดสิทธิทางการเมืองของคนผิวดำกล่าวคือ เพื่อไม่ให้คนดำได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนในสภานั่นเอง  ซึ่งภายหลังได้ถูกยกเลิกนำมาซึ่งการตั้งพรรคการเมืองของคนผิวดำ เช่น The African National Congress (ANC)

                 ส่วนTerrorism Act No 83 of 1967 เป็นกฎหมายที่ว่าด้วย การป้องกันการก่อการร้ายแต่กลับถูกนำมาใช้ในการปราบปรามคนดำที่ไม่เห็นด้วยกับกฎข้อบังคับหรือคำสั่งของรัฐบาลคนผิวขาว โดยกฎหมายระบุว่าหากผู้ใดกระทำการใดๆที่อาจเชื่อได้ว่าเป็นการผ่าฝืนต่อกฎหมายหรือคำสั่ง ผู้นั้นจะต้องถูกจับไปกักขังไว้โดยไม่มีกำหนดเวลาและโดยไม่ต้องผ่านกระบวน การยุติธรรมตามกฎหมาย (to be detained for an indefinite period without trial)

                 นโยบายการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มคนผิวดำ เป็นอย่างมากและกลายเป็นชนวนเหตุของการประท้วง การต่อต้านและจลาจล แต่สิ่งที่น่าสลดใจก็คือรัฐบาลคนผิวขาวตอบแทนกลุ่มผู้ประท้วงด้วยการใช้ กำลังตำรวจเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง(police brutality) มีการจับตัวกลุ่มผู้ประท้วงไปกักขังโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม มีการทรมานนักโทษตลอดจนการห้ามการรวมกลุ่มของคนผิวดำที่รูปแบบขององค์กร ต่างๆ อาทิ the African National Congress, the Black Consciousness Movement, the Azanian People's Organisation, the Pan Africanist Congress, and the United Democratic Front.


                  นอกจากนี้เรื่องที่ไม่อาจมองข้ามอีกเรื่องหนึ่งในประเด็นการแบ่งแยกสีผิวก็คือ การเหยียด สีผิวรวมถึงชาติพันธุ์ในเกมฟุตบอล

                   ปัจจุบัน เกือบทุกสโมสรฟุตบอลในระดับลีกสูงสุดของอังกฤษล้วนแต่มีนักฟุตบอลผิวสี และต่างชาติพันธุ์เข้าร่วมและยกระดับมาตรฐานการเล่นฟุตบอลในอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น
               
                 นักฟุตบอลผิวดำคนแรกของเกาะอังกฤษ Arthur Wharton เซ็นสัญญาเข้าเป็นนักฟุตบอลอาชีพกับสโมสร Darlington FC ในปี ค.ศ.1889 หรือราวร้อยกว่าปีที่แล้ว   แต่ทว่าการเหยียดผิวในเกมกีฬาชนิดนี้ยังไม่เคยหมดสิ้นไป

                   จาก Wharton จน ถึงปัจจุบัน นักฟุตบอลผิวสีในอังกฤษได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในเชิงลูกหนังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนักฟุตบอลผิวสีในอังกฤษมีจำนวนมากกว่า 25% ของทั้งหมด   แต่จากการสำรวจของเบียร์ Carling ผู้สนับสนุนการแข่งขันของ Premier League ใน ฤดูกาลที่ 1993/94 พบว่ามีเพียง 1% ของแฟนบอลที่ไม่ใช่ "คนผิวขาว" จึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่เรามักจะเห็นคนผิวขาวหัวรุนแรง รุมร้องรำทำเพลง ยั่วยุ เสียดสีนักเตะผิวสีอยู่เนืองๆ

                    เพลง เชียร์ที่มีท่วงทำนองและเนื้อหาดูถูกและเหยียดสีผิว มักได้ยินบ่อยครั้งในสนามฟุตบอล ในยุคทศวรรษที่ 1970 และ 1980 แฟนบอลผู้นิยมการเหยียดผิวข้างสนามชอบที่จะทำเสียงแบบ "ลิง" เพื่อล้อเลียนยั่วยุนักเตะผิวสีในสนาม

                    ค่านิยม "ขวาจัด" ของกลุ่มแฟนบอลในอังกฤษมีมาเกือบทุกยุคทุกสมัย เริ่มตั้งแต่ในทศวรรษที่ 1930 กลุ่ม British Union of Fascists ได้ทำร้ายแฟนลูกหนังชนชั้นกรรมชีพ จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต จนมาถึงทศวรรษที่ 1970 ในอังกฤษ เหล่าแฟนบอลขวาจัด และเหล่าฮูลิแกน ต่างก็สร้างปัญหาให้กับเกมกีฬานี้ โดยกลุ่มที่เคลื่อนไหวสำคัญคือกลุ่ม The National Front (NF) พวกเขาได้ออกนิตยสาร Bulldog ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับความบันเทิงและฟุตบอล แน่นอนว่ามีเนื้อหา "การเหยียดสีผิว-ชาติพันธุ์" แฝงอยู่ในนั้นด้วย ขาประจำของ Bulldog มีทั้งแฟนทีมต่างสโมสรต่างๆ ทั่วอังกฤษ ประโยคบรรยายสรรพคุณอย่างหนึ่งของนิตยสารที่ว่า "most racist ground in Britain' ได้กลายเป็นสโลแกนของแฟนทีม West Ham, Chelsea, Leeds United, Millwall, Newcastle United และ Arsenal ซึ่งในขณะนั้นถือว่ามีค่านิยมขวาจัดแข็งแกร่งที่สุดกลุ่มหนึ่งในหลายสโมสรของอังกฤษ

                 เข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 1990 ความพยายามแรกในการยับยั้งการเหยียดผิวและชาติพันธุ์ที่เป็นรูปธรรมของอังกฤษก็เกิดขึ้น การร้องเพลงล้อเลียน เสียดสี ที่เกี่ยวกับการเหยียดผิวและชาติพันธุ์ ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในอังกฤษ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการเหยียดผิวและชาติพันธุ์ ผ่านท่วงทำนองการเชียร์ฟุตบอลได้ เนื่องจากการลงโทษปัจเจกชนทำได้ยาก ทั้งจากเรื่องการหาหลักฐานและเจาะจงหาผู้กระทำผิด เพราะบนอัฒจันทร์ที่คละเคล้าไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา

                จะเห็นได้ว่าการเหยียดสีผิวเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อกำหนดความเหนือกว่าหรือด้อยกว่าบนพื้นฐานของสีผิวและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของมนุษย์  นอกจากนี้แต่ละประเทศมักยึดถือประวัติศาสตร์ที่สอนต่อๆกันมาเพื่อสร้างความชอบธรรมรองรับพฤติกรรมในอดีตของตนโดยไม่คำนึงว่าแท้ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนแต่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์เดียวกัน  มนุษย์ทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงควรได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  การเหยียดสีผิวเพื่อแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างกันจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมีอย่างหนึ่งและหากเอาใจเขามาใส่ใจเราสักนิดคิดว่าถ้าเราได้รับการเลือกปฏิบัติเช่นนั้นเราจะรู้สึกเช่นเดียวกับพวกเขาเหล่านั้นหรือไม่  ปัญหาการเหยียดสีผิวก็คงจะหมดไปจากโลกใบนี้ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น